ข่าวประวัติสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ - kachon.com

ประวัติสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ประวัติพระเกจิอาจารย์

photodune-2043745-college-student-s

ประวัติสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณพระนามเดิม อัมพร ประสัตถพงศ์ ฉายา อมฺพโร เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยทรงเริ่มดำรงตำแหน่งในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 และทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต แม่กองงานพระธรรมทูต

พระชาติกำเนิด
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ มีพระนามเดิมว่า อัมพร ประสัตถพงศ์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2470 ตรงกับแรม 12 ค่ำ เดือน 7 ปีเถาะ ณ ตำบลบางป่า อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี พระชนกชื่อนับ ประสัตถพงศ์ พระชนนีชื่อตาล ประสัตถพงศ์ เป็นบุตรคนที่ 2 จากพี่น้องทั้งหมด 9 คน มีพระอนุชาหนึ่งในนั้นคือพระธรรมวุฒาจารย์ (ไสว วฑฺฒโน) ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เจ้าอาวาสวัดศรีสุริยวงศารามวรวิหาร จังหวัดราชบุรี ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ 4 ตำบลโคกกะเทียม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 แล้วมาศึกษาต่อที่โรงเรียนประชาบาลวัดพเนินพลูจนจบชั้น ป. 4 ในปี พ.ศ. 2480

การบรรพชาอุปสมบท
เมื่อ พ.ศ. 2483 พระองค์ผนวชเป็นสามเณร ณ วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วย้ายไปอยู่วัดตรีญาติเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม ต่อมาได้ทรงเข้าพิธีผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 ณ พัทธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมีพระเทพโมลี (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

การศึกษาพระปริยัติธรรม
ขณะจำพรรษาที่วัดตรีญาติ ตำบลพงสวาย สามเณรอัมพร ประสัตถพงศ์ สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรีในปี พ.ศ. 2483 สอบได้นักธรรมชั้นโทในปีต่อมา ถึงปี พ.ศ. 2486 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 3 ประโยค และสอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยคในปี พ.ศ. 2488 เมื่อ พ.ศ. 2490 ทรงย้ายมาอยู่จำพรรษา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี

นำมาฝากกับสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพโมลี (วาสน์ วาสโน) และภายหลังอุปสมบท พระองค์ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมต่อในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ จน พ.ศ. 2491 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค และ พ.ศ. 2493 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค

หลังเป็นเปรียญ 5 ประโยค พระองค์ได้ศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 จบศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ. 2500 และทรงเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2512 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ปี พ.ศ. 2552 สภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ถวายศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์ ปี พ.ศ. 2553 สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ

สมเด็จพระสังฆราช
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการโปรดสถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชพิธีสถาปนาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เวลา 16.50 น. ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยนิมนต์สมเด็จพระราชาคณะ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค และเจ้าคณะจังหวัดทั่วราชอาณาจักร เข้าร่วมพระราชพิธี

พระกรณียกิจด้านการปกครอง
พ.ศ. 2531 - พ.ศ. 2550 เจ้าคณะภาค 14-15 (ธรรมยุต)
พ.ศ. 2539 - ปัจจุบัน กรรมการมหาเถรสมาคมคณะธรรมยุต
พ.ศ. 2550 - ปัจจุบัน ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14-15 (ธรรมยุต)
พ.ศ. 2551 - ปัจจุบัน เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
พ.ศ. 2560 - ปัจจุบัน สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
พ.ศ. 2560 - ปัจจุบัน เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
พ.ศ. 2560 - ปัจจุบัน ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม

สมณศักดิ์
5 ธันวาคม พ.ศ. 2514 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระปริยัติกวี
5 ธันวาคม พ.ศ. 2524 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสารสุธี ศรีปริยัติวราทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
5 ธันวาคม พ.ศ. 2533 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเมธาภรณ์ สุนทรธรรมานุนายก วิสุทธิสาธกสาธุกิจ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
5 ธันวาคม พ.ศ. 2538 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมเมธาภรณ์ สุนทรวาสนวงศวิวัฒ ศรีปริยัติกิจจานุกิจ ปาพจนวิภูษิตคุณาลงกรณ์ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
5 ธันวาคม พ.ศ. 2543 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระสาสนโสภณ วิมลญาณอดุลสุนทรนายก ตรีปิฎกธรรมาลังการภูษิต ธรรมนิตยสาทร ศาสนกิจจานุกร ธรรมยุติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

5 ธันวาคม พ.ศ. 2552 เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ พิพัฒนพงศ์วิสุต พุทธปาพจนานุศาสน์ วาสนวรางกูร วิบูลศีลสมาจารวัตรสุนทร ตรีปิฎกธรรมวราลงกรณวิภูษิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี
12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง สกลมหาสงฆปริณายก ตรีปิฎกธราจารย อัมพราภิธานสังฆวิสุต ปาพจนุตตมสาสนโสภณ กิตตินิรมลคุรุฐานียบัณฑิต วชิราลงกรณนริศรปสันนาภิสิตประกาศ วิสารทนาถธรรมทูตาภิวุฒ ทศมินทรสมมุติปฐมสกลคณาธิเบศร ปวิธเนตโยภาสวาสนวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิบูลสีลสมาจารวัตรวิปัสสนสุนทร ชินวรมหามุนีวงศานุศิษฏ บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช

ประวัติวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาลเมื่อ พ.ศ. 2412 โดยมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ และเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) เป็นผู้อำนวยการก่อสร้าง มีลักษณะผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมตะวันตก คือ ลักษณะภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมไทย ส่วนภายในออกแบบตกแต่งอย่างตะวันตก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม 

หมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง และมีมหาสีมาอันเป็นเสาศิลาจำหลักยอดเป็นรูปเสมาธรรมจักร 8 เสา ตั้งเป็นสีมาที่กำแพง 8 ทิศ “ราชบพิธ” หมายถึง พระอารามที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง บพิธ คำนี้มาจากภาษาบาลีคือ ปวิธะ ที่แปลว่าสร้าง ส่วน “สถิตมหาสีมาราม” หมายถึง พระอารามซึ่งมีสีมากว้างใหญ่ เป็นมหาสีมาล้อมรอบอาณาเขตของวัด วัดราชบพิธฯ นับเป็นพระอารามหลวงสุดท้าย ที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างตามโบราณราชประเพณีที่มีการสร้างวัดประจำรัชกาล

ลำดับเจ้าอาวาส
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ ทรงปกครองวัดตั้งแต่ พ.ศ. 2412 - พ.ศ. 2444
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงปกครองวัดตั้งแต่ พ.ศ. 2444 - พ.ศ. 2480
พระศาสนโศภน (ภา ภาณโก) ปกครองวัดตั้งแต่ พ.ศ. 2480 - พ.ศ. 2489
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ ทรงปกครองวัดตั้งแต่ พ.ศ. 2489 - พ.ศ. 2531
สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) ปกครองวัดตั้งแต่ พ.ศ. 2531 - พ.ศ. 2551
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร) ทรงปกครองวัดตั้งแต่ พ.ศ. 2551 - ปัจจุบัน

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
และท่านเจ้าของภาพทุกท่านที่เราได้เอามานำเสนอในสกู๊ปนี้

หนังสือพิมพ์กะฉ่อนดอทคอม แว่น วัดอรุณ รายงาน

.......

บารมีเหรียญพระเจ้าตากชาววัดอรุณ รุ่นกรุงธนบุรี ช่วยชีวิตหนุ่มใหญ่ให้รอดตายจากเหตุรถพลิกคว่ำ
https://sacred.kachon.com/353935

.......

ประมวลปาฏิหาริย์แห่งเหรียญสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชชาววัดอรุณ(คลิ๊ก)
https://sacred.kachon.com/353522

.....

ร้านเช่าบูชาวัตถุมงคล by กะฉ่อนดอทคอม(คลิ๊ก)
https://shop.kachon.com

 

ชมภาพทั้งหมด คลิ๊ก
ชมคลิปทั้งหมด คลิ๊ก

ชมภาพทั้งหมด คลิ๊ก
ชมคลิปทั้งหมด คลิ๊ก

ชมภาพทั้งหมด คลิ๊ก
ชมคลิปทั้งหมด คลิ๊ก

ชมภาพทั้งหมด คลิ๊ก
ชมคลิปทั้งหมด คลิ๊ก

ชมภาพทั้งหมด คลิ๊ก
ชมคลิปทั้งหมด คลิ๊ก